ละอง, ละมั่ง

Eld's Deer, Brow-antlered deer, Thamin, Dancing Deer

Rucervus eldii

ละอง (Rucervus eldii


ละองและละมั่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ละอง คือตัวผู้ ละมั่งคือตัวเมีย บางครั้งชาวบ้านก็เรียกทั้งตัวผู้และตัวเมียว่าละมั่ง

ละองและละมั่งเป็นกวางขนาดกลาง เล็กกว่ากวางป่า ลักษณะทั่วไปใกล้เคียงกวางบาราซิงกาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน เป็นกวางที่รูปร่างสวยงามมาก ความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 110 เซนติเมตร ความยาวหัว-ลำตัว 150-180 เซนติเมตร หนัก 150 กิโลกรัม หางยาว 20-30 เซนติเมตร ไม่มีวงก้น คอค่อนข้างเรียว ขนกลางสันหลังสีดำ ในฤดูร้อนขนมีสีน้ำตาลแดง แต่ในฤดูหนาวสีจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเข้ม  ละองค่อนข้างสีเข้มกว่าละมั่งเล็กน้อย ขนหยาบ โดยเฉพาะบริเวณคอของละอง

ละองมีเขาโค้งยาวไปด้านหลังแล้วตีวงม้วนมาด้านหน้า เขาบางตัวอาจยาวถึง เมตร มีกิ่งสั้น ๆ ที่ปลายเขา ส่วนใหญ่มี 12 กิ่ง แต่บางตัวอาจมีมากถึง 20 กิ่ง กิ่งรับหมายาวมาก ผลัดเขาปีละครั้ง เขาจะโตเต็มที่เมื่ออยู่ในฤดูผสมพันธุ์ 

ส่วนละมั่งตัวเล็กกว่าละอง และไม่มีเขา

ละองและละมั่งมีสามพันธุ์ ได้แก่พันธุ์อินเดีย หรือพันธุ์อัสสัม หรือพันธุ์มานิเปอร์ (C. e. eldiiพบในจังหวัดมานิเปอร์ของอินเดีย พันธุ์พม่า (C. e. thaminพบในประเทศพม่า ตัวใหญ่กว่าพันธุ์อินเดีย และพันธุ์ไทย (C. e. siamensisมีเขาแตกกิ่งมากที่สุด พบในประเทศไทยและจีน เคยมีผู้จำแนกละมั่งในเกาะไหหลำเป็นอีกชนิดย่อยหนึ่งคือ พันธุ์ไหหลำ (C. e. hainanusพันธุ์นี้เขาจะเล็กและไม่แตกกิ่ง แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นพันธุ์เดียวกับพันธุ์ไทย

สันนิษฐานว่ามีอุปนิสัยคล้ายกวางบาราซิงกา ละองและละมั่งรวมฝูงแยกเพศกัน แต่ละฝูงอาจมีมากถึง 50 ตัว ตัวผู้มีเขตหากินประมาณ ตารางกิโลเมตร ตัวเมียมีเขตหากินเพียงหนึ่งในสี่และอยู่ในพื้นที่ของตัวผู้ มักหากินตอนกลางคืน กินอาหารหลายชนิด เช่นพืชน้ำ หญ้า และยอดไม้ ชอบกินดินโป่งเช่นเดียวกับกวางป่า

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคมคือฤดูผสมพันธุ์ ฝูงละองจะเข้ามารวมกับฝูงละมั่ง ละองจะต่อสู้กันเพื่อแย่งสิทธิในการผสมพันธุ์และครอบครองฝูงละมั่ง ละมั่งตั้งท้องนานราว 220 ถึง 240 วัน ออกลูกครั้งละตัว ลูกกวางแรกเกิดมีลายจุดทั่วตัว เมื่อโตขึ้นจุดบนลำตัวค่อยจางไป หย่านมเมื่ออายุได้ เดือน เมื่ออายุ 18 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ละองและละมั่งมีอายุขัยราว 10 ปี

กวางชนิดนี้เคยพบตลอดตอนเหนือของอินเดียจนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอินเดีย พม่า ไทย เวียดนาม และภาคใต้ของจีน แต่จำนวนประชากรได้ลดลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการล่า แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย กวางชนิดนี้ไม่ชอบป่าทึบ แต่ชอบป่าเปิดใกล้ลำธารหรือหนองน้ำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวก็เหมาะแก่การเพาะปลูกเช่นกัน เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้น พื้นที่หากินของละองและละมั่งก็ลดลงไป 

ละมั่งพันธุ์อินเดียเหลืออยู่เพียง 200 ตัว พบในอุทยานแห่งชาติ เคบูล ส่วนพันธุ์พม่ายังเหลือประมาณ 2,000-3,000 ตัวกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยมีแหล่งขยายพันธุ์หลักอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแคตทิน ส่วนพันธุ์ไทยคาดว่ายังมีอยู่ในเทือกเขาพนมดงรักและในเกาะไหหลำ จำนวนประชากรไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าเหลือน้อยมาก ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพประชากรของละองและละมั่งไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ ไซเตสจัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1

ทราบหรือไม่?

สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ในแอฟริกามักเรียกสัตว์จำพวกแอนติโลปว่า ละมั่ง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ละมั่งกับแอนติโลปแม้มีรูปร่างคล้ายกันแต่สายเลือดห่างกันมาก แอนติโลปใกล้เคียงวัวควายมากกว่าละมั่งเสียอีก
Rucervus eldii
ชื่อไทยละอง, ละมั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์Rucervus eldii
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Cervidae
วงศ์ย่อยCervinae
สกุลRucervus

ข้อมูลอ้างอิง

  • Eld's Deer in Myanmar
  • สารานุกรมสัตว์ป่า, น.สพ. อลงกรณ์ มหรรณพ
  • สัตว์กีบ, น.พ.บุญส่ง เลขะกุล, จะรุจินต์ นภีตะภัฏ, องค์การค้าของคุรุสภา
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย, จอห์น พาร์, สำนักพิมพ์สารคดี
  • Eld's Deer - Cervus eldii จาก Cambodian Wildlife Rescue (http://www.cambodianwildliferescue.org/)
  • Eld's deer (Cervus eldii) จาก ARKive
  • Thamin or Brow-antlered Deer Cervus eldi จาก ARKive

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 28 ก.ย. 64

Powered by Wimut Wasalai